10 ประโยชน์ของถั่งเช่า ต้านมะเร็ง-ลดไขมัน-เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
หากพูดถึง “ถั่งเช่า” หลายคนอาจนึกถึงสมุนไพรที่ดูออกจีน ๆ และมีราคาแพงหูฉี่ชนิดที่เรา ๆ คนบ้าน ๆ อาจหาทานไม่ได้ จริง ๆ แล้วก็เป็นอย่างที่ทุกคนเข้าใจแหละค่ะ ว่าถั่งเช่าเป็นสมุนไพรจีน เป็นเห็ดราชนิดหนึ่งที่ขึ้นในฤดูหนาว และเป็นปรสิตที่อาศัยอยู่ในตัวอ่อนของหนอนชนิดหนึ่ง เมื่อหนอนตายในฤดูร้อน เห็ดราก็จะงอกออกมาจากตัวหนอน ในส่วนของหัวหนอนนี่แหละ ที่เราเรียกว่า “ถั่งเช่า”
ถั่งเช่า ขึ้นชื่อว่าเป็นสมุนไพรจีนที่มีราคาสูงมาก ราคาขีดละเกือบ 10,000 บาท หรืออาจะแพงกว่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของถั่งเช่า แต่ในปัจจุบันหากใครอยากบำรุงร่างกายด้วยราคาเบา ๆ แต่ยังได้ประโยชน์จากถั่งเช่าอยู่บ้าง ก็มี “ดอกถั่งเช่า” ที่มาในลักษณะของดอกถั่งเช่าอบแห้ง ราคาจะถูกกว่ากันมาก วิธีทานแค่นำไปต้มรวมกับน้ำซุปในแกงจืด หรือตุ๋นกับเนื้อหมู เนื้อไก่ เหมือนเป็นสมุนไพรจีนอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง บางสูตรอาจใช้ชงดื่มเป็นชาได้ด้วย
10 ประโยชน์ของถั่งเช่า
- ถั่งเช่ามีสรรพคุณช่วยต่อต้าน และยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง และเนื้องอก
- ลดผลข้างเคียงในการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด
- ลดระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด
- รักษาสมดุลของประสาท ฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ฟื้นฟูระบบการทำงานของไตให้ดียิ่งขึ้น
- เพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชาย
- เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดียิ่งขึ้น
- ลดความดันโลหิต
- บำรุงโลหิต ลดการเกิดภาวะโลหิตจาง
- ต้านอาการอักเสบในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
เห็นสรรพคุณของถั่งเช่าดีขนาดนี้ อย่าเพิ่งวิ่งไปหาซื้อมาทานโดยไม่ได้สำรวจร่างกายตัวเองก่อนนะคะ เพราะยังมีบางคนที่ไม่เหมาะกับการทานถั่งเช่าอยู่บ้าง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่กำลังรับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด และผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะถั่งเช่ามีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจเสริมกับฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะที่กำลังทานอยู่ จนให้ผลมากเกินไปกับร่างกาย จนเกิดเป็นอันตรายได้
จำง่าย ๆ ว่า การใช้สมุนไพรในการรักษาอาการต่าง ๆ อาจไม่สามารถใช้ควบคู่ไปกับยาปฏิชีวนะที่เราอาจกำลังทานจากแพทย์อยู่ เพราะอาจเข้าไปเสริมฤทธิ์ในการรักษามากจนเกินไปนั่นเอง ทางที่ดีหากผู้ป่วยท่านไหนอยากทานยา ควบคู่ไปกับสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาเราอย่างใกล้ชิดอีกครั้งค่ะ
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยรองศาสตราจารย์ ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และ ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล